ข้อเสนอแนะในการจัดการผู้ป่วยที่อาการทางจิตหรือสมองบริเวณสนามหลวง

 

     กว่า 5 เดือนแล้วที่ทางกรุงเทพมหานคร ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท้องสนามหลวงอย่างจริงจัง มีการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อทำงานร่วมกัน มีนโยบายในการจัดระเบียบผู้ค้า การกำจัดนกพิราบ การปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ ฯลฯ แต่ที่เห็นจะยากและมีปัญหาที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องการนำคนออกจากสนามหลวง มีแผนมากมายจัดเตรียมไว้สำหรับกลุ่มคนต่างๆในสนามหลวง “สร้างอาชีพให้คนเร่ร่อน” “หาที่อยู่ให้คนไร้บ้าน” “กำจัดขอทาน” “คุ้มครองเด็กเร่ร่อน” ฟังดูเผินๆแล้ว ดูเหมือนว่าจะครบครอบคลุมทุกปัญหาแล้ว แต่หากไปเดินดูที่สนามหลวง ณ วันนี้ดูให้ดีๆ จะพบว่ามีอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งละเลย

ร่างกายสกปรกมอมแมมหลายชีวิตที่นอนอยู่ทั่วบริเวณท้องสนามหลวง ไม่สามารถลุกไปไหนหรือแม้แต่จะช่วยเหลือตนเองได้ บางคนแต่งตัวประหลาดเดินยิ้ม หัวเราะ ร้องเพลง ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางคนผมเผ้ายาวรุงรังแต่งกายประหนึ่งว่าตนเป็นฤษีที่หวังจะนั่งจำศีลที่สนามหลวงแห่งนี้ไปอีกยาวนาน

อย่าได้มองว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ “คนบ้า” เพราะแท้ที่จริงแล้วพวกเขาคือ “ผู้ป่วย” ที่มีอาการผิดปรกติทางจิตหรือสมอง ซึ่งได้ถูกละเลย และสมควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้นโครงการศึกษาปัญหาโรคสมองเสื่อมในประเทศไทย ภายใต้การนำของมูลนิธิกระจกเงา ขอเสนอแนะวิธีการจัดการผู้ป่วยในบริเวณท้องสนามหลวง ดังนี้...

1. ขอให้กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงคนในสังคม ทำความเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนกลุ่มนี้ใหม่  ให้มองว่าเขาคือผู้ป่วยที่ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ได้เป็น “คนบ้า” ที่คอยจ้องแต่จะทำร้าย หากแต่กิริยาอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอาการป่วย ซึ่งหากได้รับการรักษา พวกเขาก็จะเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือสมองถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกระทำทางเพศจากคนปรกติ

2. ขอให้กรุงเทพมหานครมีวิธีการจัดการกับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือสมองอย่างถูกต้อง ดังนี้

  • จัดให้มีการสำรวจผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือสมอง เพื่อให้ทราบจำนวนและสภาพปัญหาที่มีอยู่จริง
  • กรุงเทพมหานครต้องรับเป็นเจ้าภาพในการคัดแยกผู้ป่วย โดยดึงหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณะสุขและเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมด้วย
  • ขอให้กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมสถานพยาบาลที่มีคุณภาพให้เหมาะสมและเพียงพอ ในการรองรับให้การรักษาแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • การดำเนินการกับกลุ่มผู้ป่วย ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยที่ควรจะได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
  • คัดกรองแยกผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกจากกลุ่มคนเร่ร่อน ที่จะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ และควรให้การช่วยเหลือเป็นอันดับแรกอย่างเร่งด่วน
  • ให้การรักษา เยียวยา ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจแก่ผู้ป่วย โดยผู้เชียวชาญตามกรณี
  • เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยาแล้ว ต้องมีกระบวนการติดตามหาญาติเพื่อส่งตัวกลับคืนสู่ครอบครัว หากไม่พบภาครัฐต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในดูการดูแลผู้ป่วยต่อไป

3. เนื่องจากปัญหานี้มิได้มีอยู่แค่ที่สนามหลวงเท่านั้น แต่พบเห็นได้ทุกท้องถนน โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของคนที่เดินเร่ร่อนอยู่บนท้องถนน เป็นผู้ป่วยที่มีอาการผิดปรกติทางจิตหรือสมอง ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องไม่หยุดอยู่แค่ที่สนามหลวงเท่านั้น โดยการจัดการปัญหาในท้องที่สนามหลวงอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการจัดการปัญหานี้ในระดับต่อไปได้

4. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีเวทีพูดคุยถึงปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือสมองโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประเมินสถานการณ์สภาพปัญหาปัจจุบัน และต้องเพิ่มศักยภาพเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง

นางสาววิจิตรา พันธ์แสง

หัวหน้าโครงการศึกษาปัญหาโรคสมองเสื่อมในประเทศไทย

มูลนิธิกระจกเงา

 

ที่มาของรูปภาพ: ผู้จัดการออนไลน์




 เมืองพัทยา....เมืองแห่งเด็กขอทาน
 “ผู้ป่วยข้างถนน” คนหลงที่ถูกลืม
 รายงานพิเศษ : กลุ่มเสี่ยงผู้ถูกค้ามนุษย์ กับ การคุ้มครองคนหางานใน
 จากภัยแล้งสู่ปัญหาเด็กเป่าแคน
 รายงาน ''สถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2551'' (มูลนิธิกระจกเงา)