จากภัยแล้งสู่ปัญหาเด็กเป่าแคน

 

                เด็กตัวน้อยใส่เสื้อนักเรียนยืนเป่าแคนและเต้นไปตามจังหวะเสียงแคน ท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนระอุและสภาพแวดล้อมรวมทั้งอารยธรรมความเจริญต่างๆ ของเมืองหลวงที่แตกต่างจาก “บ้าน” อันเป็นถิ่นฐานของเด็กอย่างสิ้นเชิง สายตาของผู้ที่เดินผ่านไปมาต่างให้ความสนใจและบางคนก็ให้เงินกับเด็ก เพื่อหวังว่าเด็กจะได้นำเงินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษา แต่ก็มีไม่น้อยที่รู้สึกสะเทือนใจกับภาพที่ได้เห็นและพาลคิดไปว่าทำไมพ่อแม่ของเด็กจึงปล่อยให้บุตรหลานมายืนเป่าแคนโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจส่งผลกับตัวเด็กเลย

 

             จากสภาพปัญหาความแห้งแล้งของดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะปีนี้เพียงแค่ช่วงเริ่มต้นของฤดูแล้งก็เกิดปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนเข้าขั้นวิกฤต ย่อมส่งผลกระทบกับชุมชนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำในการประกอบอาชีพในภาคการเกษตร เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเช่นนี้ความยากจนอดอยากย่อมคืบคลานเข้าสู่ชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านบางครอบครัวหลีกหนีความแห้งแล้ง ทุรกันดารในบ้านเกิดของตนเอง และเลือกที่จะพาบุตรหลานตัวน้อยเข้ามาหาเงินโดยการเป็นเด็กเป่าแคนในกรุงเทพมหานคร

 
 

                สอดคล้องกับในขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการปิดภาคการศึกษา ซึ่งเด็กมักจะใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อผ่อนคลายจากการเรียนและเป็นการเสริมสร้างทักษะทางการเรียนรู้อื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ซึ่งในบางครอบครัวก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้บุตรหลานช่วยหารายได้พิเศษ เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่และเป็นการใช้เวลาว่างของเด็กให้เกิดประโยชน์  ยิ่งในช่วงปิดภาคการศึกษาประกอบกับสภาพปัญหาภัยแล้ง ย่อมเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะหลั่งไหลเข้ามาขอทานโดยการเป่าแคนและซงครอบครัวของเด็กก็มักจะกล่าวอ้างเป็นความชอบธรรมว่าการพาเด็กมาเป่าแคนนี้ คือการ “หารายได้เพื่อเป็นทุนการศึกษาของเด็ก”

โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงาได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพบว่าเด็กเป่าแคนมีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงประถม 6 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชั้นประถม1 – 3 และเด็กผู้ชายจะมีมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยมากจะเป็นเด็กจากจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ซึ่งเด็กเป่าแคนก็มีทั้งที่ครอบครัวสมัครใจให้มาและถูกบังคับ การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครจะมีรถตู้เป็นพาหนะ และจะกระจายตัวกันออกเป่าแคนรอบกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่สามารถพบเด็กเป่าแคนได้ เช่น  ตลาดนัดสวนจตุจักร,อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิและห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นต้น ในแต่ละวันเด็กต้องเป่าแคนวันละประมาณ10 – 12 ชั่วโมง  เพื่อแลกกับรายได้จากการแสดงประมาณ10,000 บาทต่อเดือน ด้วยรายได้ที่สูงพอสมควรเช่นนี้ ก่อให้เกิดค่านิยมในการนำเด็กมาเป่าแคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้แต่ช่วงที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษา เด็กก็ยังต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงเย็นวันศุกร์และออกเป่าแคนในวันเสาร์ - อาทิตย์ ก่อนที่จะกลับไปเรียนหนังสือต่อในเช้าวันจันทร์   ด้วยระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรในการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวง ประกอบกับเด็กต้องทนเป่าแคนท่ามกลางแดดร้อนตลอดทั้งวันไปจนถึงการได้พักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ

            และก่อให้เด็กเกิดความคิดที่ว่าการขอทานโดยการเป่าแคนคือ “อาชีพ” เพราะเด็กคิดแต่เพียงว่าเมื่อตนเองมาแสดงการเป่าแคนและมีคนให้เงินเท่านั้น ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นคือการขอทาน

แม้ว่าการพาเด็กมาเป่าแคนอาจจะทำให้ครอบครัวของเด็กมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การที่เด็กต้องเป่าแคนท่ามกลางแดดร้อนและต้องขาดโอกาสในการดำเนินชีวิตเฉกเช่นเด็กในวัยเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรคำนึงถึง มิเช่นนั้นแล้วภาพของเด็กเป่าแคนตัวน้อยในชุดนักเรียนก็คงจะมีให้เห็นอยู่อย่างไม่จบไม่สิ้นและบานปลายไปสู่การซื้อขายเด็กอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขอทานโดยการเป่าแคนในที่สุด 

                ภาครัฐเคยมีความพยายามที่จะให้การส่งเสริมเด็กเป่าแคน แต่ไม่นานเรื่องก็เงียบหายไป ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้เด็กเป่าแคนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากไม่มีการกำหนดกรอบที่จะควบคุมการนำเด็กมาเป่าแคน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรจะออกมาตรการณ์ในการควบคุมเด็กเป่าแคนให้มีความชัดเจน เนื่องจากครอบครัวของเด็กเป่าแคนบางครอบครัวก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้บุตรหลานของตนมาทำการแสดงเพื่อหารายได้ เพราะปัญหาความแห้งแล้ง ทุรกันดาร ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ รวมทั้งพ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับบุตรหลานให้ต้องมาทำการแสดง แต่เป็นความสมัครใจของเด็กเองที่อยากช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรได้รับการสนับสนุน แต่เมื่อมีคนบางกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์โดยการบังคับให้เด็กมาเป่าแคน ทำให้เด็กเป่าแคนทั้งหมดถูกมองว่าเป็นเด็กที่มาทำการขอทานโดยการเป่าแคน ซึ่งเด็กบางคนที่ถูกบังคับก็ไม่ได้มีความสามารถในการเป่าแคนเลย ทำได้เพียงแค่เป่าลมเข้าไปในแคนให้มีเสียงเท่านั้น

ทางออกของปัญหาเด็กเป่าแคนก็คือ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองรวมทั้งเด็กที่มาหารายได้โดยการเป่าแคนตามค่านิยมของคนในชุมชน โดยการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาเป่าแคนในกรุงเทพมหานคร และต้องทำการแสดงการเป่าแคนเป็นระยะเวลานาน ท่ามกลางแดดร้อนและไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก    รวมไปถึงการชี้แจงให้เห็นถึงมุมมองของคนในสังคมที่มองว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่มา“ขอทาน” โดยการเป่าแคน  ซึ่งก็จะเป็นการลดค่านิยมของผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานของตนมาเป่าแคน

ส่วนเด็กที่ครอบครัวมีความจำเป็นจริงๆ และเด็กมีความสมัครใจรวมถึงมีความสามารถในการเป่าแคน เด็กกลุ่มนี้ก็ควรได้รับการดูแลจากภาครัฐ โดยในระยะแรกภาครัฐควรสนับสนุนให้เด็กเป่าแคนได้มีโอกาสในการพัฒนาความสามารถทางดนตรีเพิ่มขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เด็กเป่าแคนได้เรียนดนตรีกับครูเพลงและจัดหาเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพให้แก่เด็ก รวมทั้งควรจัดสถานที่ให้เด็กเป่าแคนได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถของตนเองอย่างเหมาะสม ซึ่งหากเด็กคนใดมีแววที่จะเป็นศิลปินทางด้านดนตรี ภาครัฐก็เข้าไปส่งเสริมให้เด็กได้แสดงดนตรีอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ในเรื่องของระยะเวลาในการแสดงเป่าแคนภาครัฐก็ควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็กเกี่ยวกับช่วงเวลาในการแสดงว่าไม่ควรเกินวันละ5 - 6 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อมิให้เด็กตกอยู่ในสภาพถูกแสวงหาผลประโยชน์ และกำหนดอายุของเด็กเป่าแคนไว้ไม่ให้ต่ำกว่า10 ปี  

ข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะเป็นการแยกเด็กที่ไม่มีความสามารถและถูกบังคับให้มาเป่าแคนออกจากเด็กที่ต้องการมาแสดงความสามารถเพื่อหารายได้จริงๆ ในอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการยกระดับ “ เด็กเป่าแคน ” ว่าไม่ใช่การขอทานแต่เป็นการมาแสดงความสามารถทางการเป่าแคนอย่างแท้จริง และยังทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในการได้ใช้ความสามารถในการเป่าแคนของตนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ อีกทั้งยังเป็นการปิดช่องว่างของผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ในการนำเด็กมาขอทานโดยการเป่าแคนด้วย

 

 


 

 

 

 

 



อ่าน 5880

 ปลูกฝังต้นกล้า แห่งความดีด้วยกิจกรรม “ เยาวชนจิตอาสา”
 ตีตรามนุษย์…การหลงทางของนโยบายรัฐ
 เทคโนโลยี หรือ ใครกันแน่ที่ทำให้เด็กหาย
 ผู้ใหญ่ใจร้าย หากินขอทานเด็ก
 แถลงการณ์ ''ขอพื้นที่สำหรับเด็กหาย''